ผบก.น. 6 เผยเดินหน้าทำสำนวนคดีเด็ก วัย 14 ก่อเหตุกราดยิงในห้างพารากอน หลังอัยการตีกลับ อยู่ระหว่างรอผลแพทย์และสอบปากคำเพิ่มเติม ก่อนสรุปสำนวนส่งอีกครั้ง ด้านอัยการ แจงชัด ปมตีคืนสำนวน แพทย์ยันเด็กไม่สามารถต่อสู้คดีได้
หลังจากที่รองโฆษกอัยการสูงสุดเปิดเผยว่า สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 คืนสํานวนการสอบสวนคดีของ ด.ช.วัย 14 ปี ผู้ต้องหาก่อเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก ด.ช.รายดังกล่าว ซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี ตกเป็นผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงมีการส่งตัวผู้ต้องหาไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อตรวจและบําบัดรักษา
ความคืบหน้าวานนี้ (29 ธ.ค.) พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ รอง ผบก.น.6 เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลวินิจฉัยจากแพทย์เพิ่มเติมว่าเด็กพร้อมจะต่อสู้คดีได้เมื่อไหร่จึงจะเริ่มมีการสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้ง และสรุปสำนวนส่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ก่อนหน้าพนักงานสอบสวนเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วนั้น แพทย์เจ้าของไข้มีการอนุญาตให้เข้าไปสอบปากคำ ด.ช.ผู้ก่อเหตุ ทีมพนักงานสอบสวนจึงเข้าไปสอบปากคำโดยไม่ได้เข้าไปแบบพลการ หรือผิดขั้นตอนแต่อย่างใด ซึ่งมีหนังสือแจ้งมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านนมา ว่าแพทย์อนุญาตให้ไปสอบปากคำและการสอบปากคำมีทั้งอัยการ 3 คน วิชาชีพและทนายความ ซึ่งเด็กสามารถตอบโต้ได้ทั้งหมด
พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ด้านความเห็นแพทย์ก็จะไม่ขอก้าวล่วง แต่ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนนั้นผู้ก่อเหตุสามารถต่อสู้คดีได้ จึงมีการสรุปสำนวนส่งไปให้อัยการ โดยตามข้อเท็จจริงผู้ที่อนุญาตในการให้ทีมพนักงานสอบสวนเข้าไปสอบปากคำคือแพทย์เจ้าของไข้ แต่นอกจากแพทย์แล้วก็จะมีทีมนักจิตวิทยามาร่วมประเมิน
ส่วนกรณีหากพนักงานสอบสวนยังสอบปากคำและไม่ส่งสำนวนให้อัยการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ อาจจะต้องปล่อยตัวเด็กออกจากสถานที่รักษาตัวนั้น พ.ต.อ.จิรพัฒน์กล่าวว่า เบื้องต้นในวันนี้ให้ทางพนักงานสอบสวนร่างหนังสือถึงสถาบันกัลยาณ์ที่ตัวผู้ก่อเหตุรักษาตัวอยู่ โดยอาศัยอำนาจตามศูนย์รักษาสุขภาพจิต เพื่อขอให้สถาบันกัลยาณ์รักษาเด็กต่อไปได้ และอาศัยอำนาจตาม ป.วิอาญามาตรา 14 และ พ.ร.บ.สุขภาพจิต มาตรา 36 เนื่องจากเห็นว่า ด.ช.ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ พนักงานสอบสวนก็ขอให้ทางสถาบันกัลยาณ์ รับตัวเด็กไว้จนกว่าอาการจะทุเลา หรือจนกว่าจะต่อสู้คดีได้ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่รองรับ
ในส่วนของพยานหลักฐานนั้นพนักงานสอบสวนรวบรวมไว้ได้ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ส่วนสาเหตุที่ล่าช้าในช่วงแรกนั้นคือต้องรอรายงานจากสถานพินิจ ซึ่งการสอบปากคำนั้นครบถ้วนแล้วจึงได้มีการสรุปสำนวนส่งไปให้อัยการ โดยวิธีในการสอบปากคำนั้นพนักงานสอบสวนได้นำวิดีโอขณะมีการสอบปากคำ ด.ช.ให้กับแพทย์ดู ซึ่งหลังจากที่แพทย์รายงานมาว่าเด็กไม่สามารถต่อสู้คดีได้นั้น พนักงานสอบสวนจะนำวิดีโอขณะการสอบปากคำให้แพทย์ดูเพื่อให้เห็นว่า ด.ช.มีการตอบคำถามกับทางพนักงานสอบสวนได้เป็นอย่างดี แต่หากเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับคดี ด.ช.จะบอกว่า “จำไม่ได้” แต่สามารถตอบโต้ประเด็นอื่นได้ ซึ่งตรงนี้ทางแพทย์จึงนำไปประชุมร่วมกับคณะทำงานว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ
ขณะที่นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อคืนสำนวนไปแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวนไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 14 เนื่องจากกระบวนการใดๆ ที่พนักงานสอบสวนดำเนินการไปโดยไม่ยึดหลักกฎหมายดังกล่าว ก็ต้องถือว่าเป็นกระบวนการสอบสวนที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งคดีนี้เมื่อได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน นางศจีมาศ บัวรอด อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดี และคณะทำงานอัยการได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยังมีอาการป่วยอยู่ และเป็นคนไข้ของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์มาโดยตลอด โดยมีใบรับรองประเมินผลการตรวจรักษายืนยันว่า ผู้ต้องหายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เมื่อข้อเท็จจริงทางการแพทย์ยืนยันเช่นนี้ การพิจารณาของพนักงานอัยการไม่มีประเด็นอื่นนอกจากคืนสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนรอกระบวนการบำบัดรักษาจากคุณหมอที่ประเมิน ตรวจผู้ต้องหาว่าอยู่ในภาวะปกติ และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ภายในอายุความ 20 ปี
เมื่อการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายและทำการสอบสวนเสร็จแล้วค่อยส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายอีกครั้ง จากการประสานกับคุณหมอทราบในเบื้องต้นว่าช่วงเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ คณะกรรมการตรวจรักษาจะมีการประชุมเพื่อประเมินอาการของผู้ต้องหาอีกครั้ง แต่การควบคุมตัวตามกฎหมายจะครบกำหนดระยะผัดฟ้องครั้งสุดท้ายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้
นายประยุทธกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คุณหมอและคณะกรรมการตรวจรักษาผู้ต้องหาจะมีการเดินทางไปพบผู้ปกครองของผู้ต้องหา และจะมีการแจ้งว่าเด็กยังมีอาการป่วยอยู่ ทีมที่บำบัดรักษาจะขอรับตัวไปบำบัดรักษาต่อ หากผู้ปกครองเข้าใจและอนุญาต ถ้าคุณหมอก็จะรับตัวผู้ต้องหากลับไปเป็นคนไข้เพื่อรักษาต่อตามปกติ แต่สมมุติว่าผู้ปกครองไม่ยอมและไม่อนุญาต หากคณะกรรมการของแพทย์ประเมินแล้วว่าจำเป็นจะต้องดูแล ผู้ต้องหาเพื่อป้องกันอันตราย สำหรับตัวผู้ต้องหาเอง และสังคมอาจจะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 22 บังคับ ที่จะเอาตัวผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อ
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://ch3plus.com/news/crime/weeken...
---------------------------------------
#เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ (Morning News Weekend)
วันที่ 30 ธันวาคม 2566
ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวสารก่อนใครได้ที่นี่
ch3plus : https://ch3plus.com/news/programs/mor...
facebook : / morningnewstv3
Twitter : / morningnewstv3
YouTube : https://cutt.ly/MorningnewsTV3
#3PlusNews #ข่าวช่อง3 #เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์